กิจกรรม ต่อยอดเติมใบ
ฟ้าผ่าเกิดจากอะไร ? ทำไมเวลาเล่นโทรศัพท์ตอนฝนตก ต้องกลัวฟ้าผ่า ?

              ฟ้าผ่าเกิดจากอะไร ? ทำไมเวลาเล่นโทรศัพท์ตอนฝนตก                  ต้องกลัวฟ้าผ่า

เล่นโทรศัพท์ตอนฝนตกระวังฟ้าผ่ามั้ย ? คงเป็นประโยคที่หลายคนได้ยินมาตั้งแต่เด็ก และยังมีข่าวให้ได้เห็นอยู่บ่อยๆ อีกด้วย ในปัจจุบันก็ยังคงมีทั้งคนที่เชื่อ และไม่เชื่อ ซึ่งก็ยังเป็นข้อโต้เถียงกันอยู่ตลอดเมื่อถึงฤดูฝน สำหรับบทความนี้เราจะมาดูกันว่า ถ้าเราเล่นมือถือตอนฝนตกฟ้าจะผ่าจริงหรือไม่ ? 

ฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

ฟ้าผ่า (Lightning) ถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดภายใต้เมฆในช่วงฝนฟ้าคะนอง ซึ่งเมื่อก้อนเมฆเคลื่อนที่ก็จะมีลมและเกิดการเสียดสีกับโมเลกุลของหยดน้ำ และน้ำแข็งภายในก้อนเมฆ ทำให้เกิดการแตกตัวของประจุไฟฟ้าทั้งบวกและลบ

โดยประจุลบส่วนใหญ่ที่อยู่ทางด้านล่างของก้อนเมฆนั้น มีความสามารถในการเหนี่ยวนำให้วัตถุทุกสิ่งที่อยู่ภายใต้ก้อนเมฆเป็นประจุบวกได้ทั้งหมด พร้อมทั้งดึงดูดให้ประจุบวกวิ่งขึ้นมาหาประจุลบได้ ทั้งนี้หากประจุลบใต้ก้อนเมฆมีปริมาณมากพอ จะทำให้อากาศด้านล่างก้อนเมฆค่อยๆ แตกตัวเมื่อประจุลบและประจุบวกวิ่งมาถึงกันทำให้เกิดเป็นฟ้าผ่าได้ในที่สุด

ฟ้าผ่าเพราะอะไร ?

ฟ้าผ่าเกิดขึ้นเพราะเราไปอยู่ในจุดเสี่ยง ซึ่งทุกบริเวณที่เกิดฝนฟ้าคะนองมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดฟ้าผ่าได้หมด เพียงแต่จุดเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดฟ้าผ่าได้มากที่สุด คือ ที่โล่งแจ้ง และจุดที่สูงสุดในบริเวณนั้นๆ เช่น ต้นไม้, บนอาคารสูง เนื่องจากประจุไฟฟ้ามีโอกาสวิ่งมาเจอกันได้เร็วที่สุด ส่วนวัตถุที่เป็นตัวทำให้ฟ้าผ่าใส่มนุษย์ได้มากที่สุด คือวัตถุที่อยู่สูงเหนือจากศีรษะมนุษย์ขึ้นไป โดยเฉพาะสิ่งของที่มีปลายแหลม เช่น ร่มที่ด้านปลายบนสุดเป็นเหล็กแหลม 

ใช้มือถือขณะฝนตกฟ้าผ่าจริงรึเปล่า ?

ความเชื่อที่ว่าเล่นมือถือขณะฝนตกทำให้ฟ้าผ่าจริงๆ แล้วมีความเป็นไปได้น้อยมาก เพราะมือถือไม่นับว่าเป็นสื่อล่อฟ้า แต่ถ้าเป็นโทรศัพท์บ้านก็มีความเสี่ยงไม่น้อย เพราะฟ้าอาจผ่าลงมาที่เสาสัญญาณได้ และเมื่อกระแสไฟจากฟ้าผ่าวิ่งมาตามสายโทรศัพท์ที่เชื่อมต่อก็ทำให้ทั้งโทรศัพท์และผู้ใช้งานได้รับอันตราย นอกจากนี้ การที่เราไปยืนกลางที่โล่งแจ้ง หรือใต้ต้นไม้ใหญ่ก็มีความเสี่ยงที่จะโดนฟ้าผ่าสูงมากกว่าการใช้โทรศัพท์มือถือขณะฝนตกเสียอีก

ส่วนคำพูดที่ว่า เล่นมือถือตอนฝนตกแล้วฟ้าจะผ่า น่าจะมาจากการที่ได้เห็นข่าวอยู่บ่อยๆ เพราะที่ตัวของคนที่ถูกฟ้าผ่ามักจะมีโลหะ หรือมือถืออยู่กับตัวด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วโลหะ หรือมือถือนั้นเป็นเพียงสิ่งที่ทำให้คนที่โดนฟ้าผ่าได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น เพราะการใช้มือถือในบริเวณที่เสี่ยงต่อการเกิดฟ้าผ่าอาจทำให้เกิดการเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าเข้ามาในแบตเตอรี่หากเกิดฟ้าผ่าขึ้น และทำให้เกิดการระเบิด หรือกระแสไฟอาจจะวิ่งเข้าโลหะที่ติดอยู่กับตัว ส่งผลให้ผู้ถูกฟ้าผ่าได้รับบาดเจ็บมากขึ้นถึงขั้นเสียชีวิตได้

เมื่อปี พ.ศ. 2552 (ค.ศ. 2009) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดงานเสวนา ในหัวข้อ "ฟ้าผ่า ข้อเท็จจริงที่ควรรู้" ซึ่งมีนักวิชาการและผู้เชียวชาญทางด้านการเกิดฟ้าผ่าเข้าร่วมหลายคน และภายในงานได้มีการจำลองสภาวะฟ้าผ่ากับโทรศัพท์มือถือ เพื่อพิสูจน์ว่ามือถือเป็นสื่อล่อฟ้าจริงหรือไม่ การทดลองแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ โดยใช้โทรศัพท์มือถือที่ปิดเครื่อง, โทรศัพท์มือถือที่เปิดเครื่องและมีสายเรียกเข้า, โทรศัพท์มือถือที่เปิดเครื่องมีสายเรียกเข้าและมีการตั้งรับอัตโนมัติเป็นสื่อล่อฟ้า ซึ่งผลการทดลองทั้ง 3 รูปแบบ พบว่าฟ้าไม่ผ่าลงโทรศัพท์มือถือ และทุกเครื่องยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ

นอกจากนี้ เพื่อแสดงให้เห็นข้อเท็จจริงของอันตรายจากฟ้าผ่า จึงได้มีการสาธิตกับวัตถุที่จำลองเป็นต้นไม้ ก็พบว่าฟ้าผ่าลงที่บริเวณดังกล่าว เนื่องจากเป็นจุดที่สูงกว่าบริเวณอื่นๆ ที่สำคัญยังมีการจำลองสถานการณ์โดยใช้ตุ๊กตาแทนคน ยืนหลบอยู่ใต้ต้นไม้เมื่อมีฝนฟ้าคะนอง ซึ่งผลปรากฏว่าฟ้าผ่าลงต้นไม้และมีกระแสไฟกระโดด ส่วนตัวตุ๊กตามีรอยไหม้บริเวณศีรษะนับเป็นกรณีตัวอย่างอันตรายจากฟ้าผ่าที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศไทย

สรุปเกี่ยวกับการฟ้าผ่า

การใช้มือถือในขณะที่ฝนตกไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้โดนฟ้าผ่า เพราะจากการทดลองของสวทช.ทั้ง 3 รูปแบบข้างต้น พบว่าฟ้าไม่ผ่าลงโทรศัพท์มือถือ และทุกเครื่องยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ จึงสามารถสรุปได้ว่ามือถือไม่ใช่สายล่อฟ้าส่วนสาเหตุที่จะทำให้ถูกฟ้าผ่านั้นเกิดจากการอยู่ในบริเวณที่เสี่ยง เช่น อยู่กลางที่โล่งแจ้ง หรือใต้ต้นไม้ แต่หากเราใช้มือถือในบริเวณเสี่ยงแล้วเกิดโดนฟ้าผ่าขึ้นมา กระแสไฟอาจเข้าสู่แบตเตอรี่ทำให้เกิดการระเบิดที่จะทำให้เราได้รับบาดเจ็บมากกว่าเดิมนั่นเอง

ที่มา : www.nstda.or.th , steemit.com 

โพสเมื่อ : 05 ต.ค. 65