ฝ่ายนักธรรม-วินัย
                                                     กัณฑ์ที่  ๔
                                                     ปาราชิก

๑.  ผู้ต้องอาบัติปาราชิกถือเพศคฤหัสถ์ไปแล้ว  กับผู้ลาสิกขาบทโดยปกติ  ยังมีทางได้ทางเสียประโยชน์ในธรรมวินัยต่างกันอย่างไร  ?
ต่างกัน  ผู้ต้องอาบัติปาราชิกสาปไปจากหมู่แล้ว  จะกลับมาบวชในพระธรรมวินัยอีกไม่ได้ตลอดชาติ ส่วนผู้ลาสิกขาบทโดยปกตินั้น  ถ้ามีศรัทธาปสาทะจะกลับมาบวชอีกไม่ได้ห้าม  แม้มรรคผลก็อาจบรรลุได้  ฝ่ายผู้ต้องอาบัติปาราชิกนั้น  ทานกล่าวห้ามมรรคผลตลอดชาติ  แต่ถ้าถือเพสเป็นคฤหัสถ์แล้วไม่ห้ามสุคติโลกสวรรค์ ฯ
๒.  อกรณียกิจ  กับ  ปาราชิก  ๔  เหมือนกันและต่างกันอย่างไร  ?
เหมือนกันที่มีจำนวนเท่ากัน  ต่างกันที่ความหมายกว้างแคบกว่ากัน  เช่นในอกรณียกิจว่า  ลักของเขา  ๑  ฆ่าสัตว์  ๑  แต่ในปาราชิกว่า  “ภิกษุถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ได้ราคา  ๕  มาสก  ต้องปาราชิก  และภิกษุแกล้งฆ่ามนุษย์ให้ตาย  ต้องปาราชิก”.
๓.  พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทใด  เพื่อป้องกันความเสียหายต่อไปนี้และข้อที่ยกมานั้นมีใจความว่าอย่างไร ?
ป้องกันความโหดร้าย ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑
ป้องกันความโลภ ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒
๔.  ปาราชิก  ๔ สิกขาบทๆ ไหน  เป็นสจิตตกะ ,  สิกขาบทไหน  เป็นสาณัตติกะ,  อนาณัตติกะ? 
ปาราชิกทั้ง ๔ สิกขาบทเป็นสจิตตกะ เพราะเกิดขึ้นโดยสมุฏฐานมีเจตนา,
สิกขาบทที่ ๑ และที่ ๔ เป็น อนาณัตติกะคือไม่ต้องเพราะสั่ง ฯ
สิกขาบทที่ ๒ และที่ ๓ เป็น สาณัตติกะ คือแม้สั่งให้ผู้อื่นทำ ผู้สั่งก็ต้องอาบัติด้วยฯ   
๕.  จงอ้างสิกขาบทที่บัญญัติไว้ไม่ให้โหดร้าย  ไม่ให้หาความ  มาอย่างละ ๑  ข้อ และใจความของข้อนั้นๆ ?
ปาราชิกข้อ 1 ภิกษุแกล้งฆ่ามนุษย์ให้ตายต้องปาราชิก,ภิกษุโกรธเคืองแกล้วโจทภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูลต้องอาบัติสังฆาทิเสส
๖.  ภิกษุทำอะไรบ้าง จึงขาดจากความเป็นภิกษุ   ภายหลังกลับอุปสมบทได้อีกหรือไม่? ๖/๔๒
เสพเมถุน,ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้มีราคา 5มาสก ,แกล้งฆ่ามนุษย์ให้ตาย,อวดอุตตริมนุสสธรรม,บวชอีกไม่ได้
๗.  ปาราชิกนั้น  ภิกษุต้องล่วงละเมิดครบทั้ง  ๔ หรือเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง  แต่ต้องละเมิดถึง  ๔  ครั้งจึงเป็นปาราชิก  จงแถลงมาดู?
ไม่เป็นอย่างนั้น ภิกษุล่วงละเมิดเพียงข้อใดข้อหนึ่ง แม้คราวเดียวก็ต้องปาราชิก
๘.  ปาราชิก ๔ สิกขาบทไหนที่ภิกษุใช้ให้เขาทำก็ต้องอาบัติถึงที่สุด?
สิกขาบทที่ ๒  และ  ที่  ๓
๙.  อาบัติชั่วหยาบหมายถึงอาบัติอะไรบ้าง  ?
หมายถึง  ปาราชิก  ๔  สังฆาทิเสส  ๑๓  ฯ
๑๐.  ภิกษุปาราชิกแล้วมีผลอย่างไร ?
มีผลพ่ายจากหมู่ ไม่มีสังวาสมาบวชอีกไม่ได้ 
๑๑.  การที่ภิกษุต้องการจะพูดเรื่องจริง     แต่เป็นเหตุให้ต้องอาบัติได้เหมือนกัน      ต้องการทราบว่า    พูดอะไรบ้าง   ?
ภิกษพูดเรื่องต่อไปนี้        คือ  บอกอุตตริมนุสสธรรมที่มีจริงแก่อนุปสัมบันต้องปาจิตตีย์   ตามสิกขาบทที่   ๘     แห่งมุสาวาทวรรค 
๑๒.  ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ และ ๔ ความว่าอย่างไร ?
ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ ความว่า ภิกษุแกล้งฆ่ามนุษย์ให้ตาย ต้องปาราชิก 
สิกขาบทที่ ๔ ความว่า ภิกษุอวดอุตตริมนุสสธรรม(ธรรมอันยิ่งของมนุษย์) ที่ไม่มีในตนต้องปาราชิก  ฯ
๑๓.  ภิกษุทำอะไรบ้าง จึงขาดจากความเป็นภิกษุ ภายหลังกลับอุปสมบทอีกได้หรือไม่ ?
ภิกษุทำอย่างนี้ คือ เสพเมถุน ๑, ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ มีราคา ๕ มาสก ๑, แกล้งฆ่ามนุษย์ให้ตาย ๑, อวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน ๑, จึงขาดจากความเป็นภิกษุ  ฯ  
ภายหลังกลับมาอุปสมบทอีกหาได้ไม่  ฯ
สิกขาบทที่  ๑  :  เสพเมถุน
๑๔.  ปาราชิกสิกขาบทที่  ๑  ความว่าอย่างไร  ?
ความว่า  “ภิกษุถึงพร้องด้วยสิกขาและธรรมเนียมเลี้ยงชีวิตร่วมกันของภิกษุทั้งหลายแล้ว  ไม่กล่าวคืนสิกขาบท  ไม่ได้ทำให้แจ้งความเป็นผู้ถอยกำลัง  เสพเมถุน  โดยที่สุดแม้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย  ต้องปาราชิก”
๑๕.  ภิกษุถูกข่มขืนต้องอาบัติอะไร ?
  ภิกษุถูกข่มขืนแต่ยินดีในขณะที่องค์กำเนิดเข้าไปก็ดี  เข้าไปถึงที่แล้วก็ดี  หยุดอยู่ก็ดี  ถอนออกก็ดี แม้ขณะใดขณะหนึ่ง  ต้องอาบัติปาราชิก  ถ้าไม่มีจิตยินดีไม่เป็นอาบัติ





สิกขาบทที่  ๒  :  ถือเอาทรัพย์มีราคามเกิน  ๕  มาสก
๑๖.  สังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์  ได้แก่ทรัพย์เช่นไร  ทั้ง  ๒ อย่างนี้  กำหนดถึงที่สุด  ภิกษุล่วงละเมิดเป็นอันต้องปาราชิกไว้อย่างไร  ?
สังหาริมทรัพย์  ได้แก่ทรัพย์หรือสิ่งของที่เคลื่อนที่ได้  ทั้งที่มีวิญญาณและไม่มีวิญญาณ  เช่นสัตว์ต่างชนิดและเงินทองเป็นต้น  
ส่วนอสังหาริมทรัพย์นั้น  ได้แก่ทรัพย์หรือสิ่งที่เคลื่อนที่ไม่ได้  โดยตรงได้แก่ที่ดิน  โดยอ้อมนับของที่ติดเนื่องอยู่กับที่นั้นด้วย  เช่นต้นไม้และเรือนเป็นต้น  ฯ
๑๗.  ทรัพย์เช่นไร เรียก สวิญญาณกทรัพย์ และอวิญญาณกทรัพย์ ?
  ทรัพย์ที่มีวิญญาณ เรียก สวิญญาณกทรัพย์ 
ทรัพย์ที่ไม่มีวิญญาณ เรียกอวิญญาณกทรัพย์ 
๑๘.  การถือเอาทรัพย์เป็นสังหาริมะ  กำหนดว่าถึงที่สุดด้วยอาการอย่างไร ?
  การถือเอาทรัพย์ ที่เป็นสังหาริมะ  กำหนดว่าถึงที่สุดด้วยทำให้เคลื่อนที่จากฐาน ( หรือจากที่)
๑๙.  การถือเอาทรัพย์เป็นอสังหาริมะ กำหนดว่าถึงที่สุดด้วยกำหนดอย่างไร ?
  การถือเอาทรัพย์ ที่เป็นอสังหาริมะ กำหนดว่าถึงที่สุดด้วยการขาดกรรมสิทธิ์แห่งเจ้าของ 
๒๐.  ภิกษุถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นทำตกไว้  จะต้องอาบัติอะไรหรือไม่  จงชี้แจง  ?
ต้องอาบัติก็มี  ไม่ต้องอาบัติก็มี  ดังนี้
ก.  ถือเอาด้วยไถยจิตและของนั้นมีราคาตั้งแต่  ๕  มาสกขึ้นไป  ต้องอาบัติปาราชิก  มีราคาต่ำกว่า  ๕  มาสก  แต่เกิน  ๑  มาสก  ต้องอาบัติถุลลัจจัย,  มีราคาตั้งแต่  ๑  มาสกลงมา  ต้องอาบัติทุกกฏ  
ข.  ถือเอาด้วยถือเอาของเก็บได้ก็ตาม  ด้วยหมายใจจะให้เจ้าของก็ตาม  ต้องอาบัติปาจิตตีย์  ฯ  ในอรรถกถากล่าวว่า  ถ้าของนั้นเป็นนิสสัคคิยวัตถุ  ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์  ฯ
ค.  ถือเอาด้วยสำคัญว่าของตนก็ดี  ถือเอาด้วยบังสุกุลสัญญาก็ดี  โดยเข้าใจว่าเจ้าของทิ้งแล้วก็ดี  หรือเข้าใจว่าไม่มีเจ้าของหวงแหนก็ดี  ไม่ต้องอาบัติ  
ฆ.  ถ้าของตกอยู่ในวัดที่อยู่  หรือในที่พักอาศัย  เก็บไว้ให้เจ้าของ  ไม่ต้องอาบัติ  หากไม่เก็บ  ต้องทุกกฏ  ฯ
๒๑.  อาการที่ไม่เป็นอทินนาทานมี  ๔  คืออะไรบ้าง 
    คือ  ๑. ถือเอาด้วยวิสาสะ ๒.  ด้วยเป็นของยืม 
๓.  ถือเอาด้วยสำคัญว่าเป็นของตน  ๔.  ถือเอาด้วยสำคัญว่าเป็นของทิ้งหรือผ้าบังสุกุล
๒๒.  ภิกษุมีไถยจิตสั่งให้ภิกษุอื่นโจรกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง  และเสร็จตามสั่งนั้น  จะต้องอาบัติอะไร  จงชี้แจง  ?
ต้องอาบัติทั้งผู้สั่งและผู้ทำตามสั่ง  ดังนี้
๑.  ทรัพย์มีราคา  ๕  มาสกขึ้นไป  เป็นวัตถุแห่งอาบัติปาราชิก
๒. ทรัพย์มีราคาหย่อน   ๕  มาสกลงมา  แต่สูงกว่า  ๑  มาสก  เป็นวัตถุแห่งอาบัติถุลลัจจัย
๓.  ทรัพย์มีราคาตั้งแต่  ๑  มาสกลงมา  เป็นวัตถุแห่งอาบัติทุกกฏ  ฯ


๒๓.  ทรัพย์มีราคาเท่าไร  เป็นวัตถุแห่งอาบัติปาราชิก  มีราคาเท่าไร  เป็นวัตถุแห่งอาบัติถุลลัจจัย  มีราคาเท่าไร  เป็นวัตถุแห่งอาบัติทุกกฏ  ?
ทรัพย์มีราคา  ๑  บาท  คือ  ๕  มาสก  เป็นวัตถุแห่งอาบัติปาราชิก  
มีราคาต่ำกว่า  ๕  มาสก  แต่สูงกว่า  ๑  มาสกขึ้นไป  เป็นวัตถุแห่งอาบัติถุลลัจจัย  
มีราคาตั้งแต่  ๑  มาสกลงมา  เป็นวัตถุแห่งอาบัติทุกกฏ   ฯ
๒๔.  ในอทินนาทานสิกขาบท  กำหนดราคาทรัพย์เป็นวัตถุแห่งอาบัติไว้หมายถึงอย่างไรบ้าง?
  ๕ มาสกขึ้นไปต้องปาราชิก,
ต่ำกว่า ๕ มาสกแต่สูงกว่า ๑ มาสกต้องอาบัติถุลลัจจัย,
ต่ำกว่า ๑ มาสกลงไปต้องอาบัติทุกกฏ
๒๕.  ทรัพย์ของตนเอง  ก็ทำให้ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกได้  มีหรือไม่  ถ้ามีจัดเข้าในอวหารอะไร  จงชี้ตัวอย่างมาด้วย  ?
มี  จัดเข้าในอวหารที่เรียกว่า  “สุงกฆาตะ”  ตัวอย่างเช่น  ภิกษุนำของควรแก่ค่าภาษีมาจะผ่านที่เก็บภาษี  ซ่อนของนั้นเสีย  หรือของมากซ่อนให้เห็นแต่น้อย  ดั้งนี้  ต้องอาบัติถึงที่สุดในขณะนำของนั้นพ้นเขตที่เก็บภาษีไป  ฯ
๒๖.  ภิกษุต้องอาบัติเพราะทรัพย์ผู้อื่นพอทราบ  ภิกษุต้องอาบัติเพราะทรัพย์ของตนเองมีหรือไม่  ถ้ามี  เช่นอะไร  ?
มี  คือ  อาบัติเนื่องด้วยตระบัดภาษี  กล่าวคือทรัพย์ของตนซึ่งต้องเสียภาษีเมื่อผ่านด่าน  ในกรณีนี้ภิกษุย่อมเป็นอาบัติตามราคาที่ต้องเสียภาษี
๒๗.  ภิกษุแดงสั่งภิกษุเขียวให้บอกภิกษุดำเรื่องทำโจรกรรม  แต่ภิกษุเขียวหาบอกภิกษุดำไม่  ไหล่สั่งภิกษุขาวแทน  เมื่อทำตามสั่งและได้ทรัพย์มาเกิน  ๕  มาสก  ภิกษุทั้ง  ๓  รูปนั้น  จะต้องอาบัติอะไรหรือไม่  ?
ผู้ใช้และผู้ทำ  คือภิกษุเขียวกับภิกษุขาว  ต้องอาบัติถึงที่สุดคือปาราชิกเมื่อทำสำเร็จ  ส่วนภิกษุแดงผู้สั่งเดิมรอดตัวไม่ต้องอาบัติเพราะสั่งผิดตัว
๒๘.  ภิกษุรับของฝาก   มีไถยจิตคิดเอาเสีย  ครั้นเจ้าของเขามาขอคืนกล่าวปฏิเสธว่าไม่ได้รับไว้  เช่นนี้จะพึงกำหนดต้องอาบัติ ด้วยทำให้เคลื่อนจากฐาน  หรือด้วยขาดกรรมสิทธิ์แห่งเจ้าของ  ?
กำหนดต้องอาบัติด้วยขาดกรรมสิทธิ์แห่งเจ้าของ ฯ
๒๙.  ภิกษุถือเอทรัพย์ของผู้อื่นเกิน  ๕  มาสกด้วยไถยจิต  กับทรัพย์ราคาเท่ากันอันเขาฝากไว้  แต่ภิกษุอ้างว่าคืนให้เจ้าของแล้ว  เช่นนี้ภิกษุต้องอาบัติอะไร ในขณะไหน  ?
ต้องปาราชิก  อย่างแรกอาบัติถึงที่สุดขณะทำของนั้นให้พ้นจากที่  อย่างหลังอาบัติถึงที่สุดขณะที่เจ้าของทอดกรรมสิทธิ์  ฯ
๓๐.  ภิกษุถือเอาของผู้อื่นด้วยอาการอย่างไร  จึงจัดเป็นอทินนาทาน 
ถือเอาด้วยมีไถยจิต คือจิตคิดจะลัก
๓๑.  ภิกษุถือเอาของผู้อื่นด้วยอาการอย่างไร  ไม่จัดเป็นอทินนาทาน 
ถือเอาด้วยไม่มีไถยจิต  คือจิตคิดจะลัก      
๓๒.  ทรัพย์ราคา  ๕ มาสก  เทียบเท่าราคาทองคำหนัก….เมล็ดข้าวเปลือก  
๒๐ เมล็ดข้าวเปลือก
๓๓.  คัมภีร์วิภังค์กล่าวเรื่องทรัพย์ไว้อย่างไร 
สังหาริมะ ทรัพย์หรือสิ่งของซึ่งเลื่อนที่ได้,
อสังหาริมะ ทรัพย์หรือสิ่งของเลื่อนที่ไม่ได้ 
๓๔.  ทรัพย์ที่กล่าวในคัมภีร์วิภังค์  เมื่อรวมแล้วมีกี่ประเภท  อะไรบ้าง
สังหาริมทรัพย์ เคลื่อนที่ได้เช่นปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ เช่นแพะ แกะสุกร โค กระบือ เป็นต้น และอสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์เคลื่อนที่ได้แก่ที่ดิน เรือนเป็นต้น
๓๕.  ภิกษุมีไถยจิตสั่งให้ภิกษุอื่นโจรกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง และเสร็จตามสั่งนั้นจะต้องอาบัติหรือไม่ ?
    ต้องอาบัติทั้งผู้สั่งและผู้ทำตามสั่ง
๓๖.  จงอธิบาย คำต่อไปนี้ 
ก.ไถยจิต  ข.ฉ้อ ค.ยักยอก ง.ตระบัด จ.สุงกฆาตะ
อธิบายคำดังต่อไปนี้ 
  ก. ไถยจิต ดีได้แต่จิตจะลัก คือ จิตถือเอาของที่เจ้าของไม่อนุญาตให้ด้วยอาการแห่งโจร
  ข.  ฉ้อ ได้แก่การใช้อำนาจในการโกง
  ค. ยักยอก ได้แก่การใช้อำนาจที่จำหน่ายทรัพย์ผู้อื่นมาเป็นของโดยมิชอบ
  ง. ตระบัด ได้แก่ภิกษุนำของควรเสียภาษีผ่านที่เก็บซ่อนของเหล่านั้นหรือของมากให้เห็นเป็นของน้อย
จ.  สุงกฆาตะ หนีภาษี หรือต้องอาบัติด้วยตนเอง
๓๗.  จงอธิบาย คำต่อไปนี้ 
ก.ปล้น ข.หลอกลวง ค.กรรณโชก ง.ลักซ่อน จ.สาณัตติกะ ฉ.  อนาณัตติกะ
อธิบายคำดังต่อไปนี้
ก.  ปล้น ได้แก่ภิกษุชวนกันไปโจรกรรมลงมือเองบ้างไม่ได้ลงมือเองบ้าง
ข.  หลอกลวง ได้แก่ภิกษุทำของปลอม เช่นเงินปลอม ทองปลอม ชั่งของด้วยเครื่องชั่งโกว
ค.  กรรณโชก ได้แก่การข่มขู่ให้ได้มา
ง.  ลักซ่อน ได้แก่ภิกษุเห็นของเขาตกมีไถยจิตเอาดินกลบเสียหรือเอาใบไม้เป็นต้นบังเสีย
จ.  สาณัตติกะ อาบัติที่ต้องเพราะสั่ง คือสิกขาที่ต้องเพราะทำเองและสั่งให้ผู้อื่นทำ
ฉ.  อนาณัตติกะ อาบัติที่ต้องเฉพาะทำ คือสิกขาที่ต้องเพราะทำเองสั่งผู้อื่นทำไม่เป็นอาบัติ
๓๘.  คำว่า  ลักสับ  หมายความว่าอย่างไร ?
  คำว่า  ลักสับ  หมายความว่า  มีไถยจิตสับสลากซึ่งตนกับชื่อของผู้อื่นในกองของด้วยหมายจะเอาลาภของผู้อื่นที่มีราคากว่า  หรือการเอาของปลอมสับเอาของดี  ก็มีความหมายเช่นเดียวกันฯ

สิกขาบทที่  ๓  :  แกล้งฆ่ามนุษย์ให้ตาย
๓๙.  ภิกษุพยายามฆ่ามนุษย์  ต้องอาบัติอะไร  ?
ถ้าทำสำเร็จต้องปาราชิก  ถ้าไม่สำเร็จ เป็นแต่เพียงทำให้เจ็บตัว  ต้องถุลลัจจัย  ถ้าไม่ถึงนั้นต้องทุกกฏ  ฯ
๔๐.  ภิกษุพยายามฆ่าคนอื่นและตนเอง  จะต้องโทษตามพระวินัยเป็นอย่างไร  ?
ภิกษุพยายามฆ่าคนอื่น  ทำสำเร็จต้องอาบัติปาราชิก  ถ้าไม่สำเร็จเป็นแต่เพียงให้เจ็บตัว  ต้องอาบัติถุลลัจจัย  ทำไม่ถึงขั้นนั้นต้องอาบัติทุกกฏ  และพยายามฆ่าตนเองต้องอาบัติปาจิตตีย์  ฯ
๔๑.  ภิกษุทำร้ายภิกษุอื่นถึงตาย เป็นอาบัติปาราชิกก็มี  ไม่ถึงปาราขิกก็มี  ทำไมจึงเป็นอาบัติไม่เหมือนกัน  ?
เห็นที่เป็นอาบัติต่างกันเพราะเจตนาของผู้ทำ  ถ้าภิกษุเจตนาทำร้ายผู้อื่นให้ถึงตาย  ถ้าผู้ที่ตนทำร้ายถึงตาย  ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาราชิก,  แต่ถ้าไม่มีเจตนาจะฆ่า  แต่ผู้ที่ตนทำร้ายถึงแก่ความตาย  เช่นนี้  ภิกษุนั้นไม่ต้องอาบัติปาราชิก  (ถ้าผู้ที่ตนทำร้ายเป็นอุปสัมบัน  ต้องอาบัติปาจิตตีย์  เป็นอนุปสัมบันต้องกุกกฎ)
๔๒.  ภิกษุทำให้ผู้อื่นตาย   
๑)  อย่างไรเป็นปาราชิก (มีเจตนาฆ่า ผู้นั้นตายเพราะการฆ่า)  
            ๒) อย่างไรเป็นปาจิตตีย์ (ไม่มีเจตนาแค่คิดทำร้ายให้เจ็บตัว บังเอิญผู้นั้นถึงแก่ความตาย)
            ๓)อย่างไรเป็นทุกกฎ (ผู้ถูกทำร้ายเป็นอนุปสัมบัน)   
            ๔ ) อย่างไรไม่เป็นอาบัติ (ไม่แกล้งคือไม่จงใจ ไม่เป็นอาบัติ)  
        ๕)  ถ้าเป็นอาบัติจะพ้นได้อย่างไร (ถ้าเป็นอาบัติปาราชิก แก้ไขไม่ได้, ส่วนอาบัติอื่นๆ พ้นได้ด้วยการแสดงอาบัติคือประจานต่อหน้าภิกษุด้วยกัน)
๔๓.  ฆ่าสัตว์เป็นอาบัติอะไรบ้าง?
  ปาราชิก เพราะฆ่ามนุษย์ฯ
ถุลลัจจัย เพราะฆ่าอมนุษย์ ฯ
ปาจิตตีย์ เพราะฆ่าสัตว์เดรัจฉาน      
๔๔.  ฆ่าสัตว์   ท่านกล่าวไว้ในอกรณียกิจว่า  บรรพชิตไม่ควรทำ  มีอธิบายอย่างไร? 
คือคำว่าสัตว์ แปลว่า ผู้ข้องอยู่ในอารมณ์ เป็นคำกลาง ๆ ไม่นิยมว่าเป็นสัตว์ชนิดไหน เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวโดยย่อว่า ฆ่าสัตว์เป็นอกรณียกิจที่บรรพชิตไม่ควรทำ
๔๕.  การปลงชีวิตอย่างไร  ต้องอาบัติถุลลัจจัย? 
ปลงชีวิตมนุษย์แต่ไม่สำเร็จคือไม่ตาย,ฆ่าอมนุษย์อีกอย่าง
๔๖.  ในพระวินัยการฆ่ามีกี่อย่าง อะไรบ้างเพราะทำอย่างไร ? ( ๕ คะแนน)
ในพระวินัย การฆ่ามี ๔ อย่างคือ
๑.   ฆ่ามนุษย์เป็นปาราชิก ๒.   ฆ่าอมนุษย์ เป็นกุลลัจจัย 
๓.  ฆ่าสัตว์เดรัจฉานทั่วไปเป็นปาจิตตตีย์ ๔.  ฆ่าตนเอง เป็นทุกกฎ
๔๗.  ภิกษุฆ่ามนุษย์ต้องปาราชิก ถ้าฆ่าสัตว์ดิรัจฉาน เช่น ช้าง ปลา ยุง ต้องอาบัติอะไร ?
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ในสิกขาบทที่ ๑ แห่งสัปปาณวรรคที่ ๗ ว่าภิกษุแกล้วฆ่าสัตวดิรัจฉานต้อง
ปาจิตตีย์

สิกขาบทที่  ๔  :  พูดอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน
๔๘.  อุตตริมนุสสธรรม    มีความหมายว่าอย่าไร  จงอธิบายพอได้ความ  ?
อุตตริมนุสสธรรม  ได้แก่ธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์  หรือคุณของมนุษย์ผู้ยวดยิ่ง  ได้แก่  ฌาน  วิโมกข์  สมาธิ  สมาบัติ  มรรค  ผล  
๔๙.  อวดเช่นไร  เรียกว่า  อวดอุตตริมนุสสธรรม
  อวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตนคืออวดว่าตนได้บรรลุอัปปนาสมาธิหรือฌาน และคุณธรรมเบื้องสูงคือโลกุตตรธรรม ได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑  รวมเป็น ๙
๕๐.  ภิกษุพูดวจีทุจริตแต่ละอย่าง  จะเป็นทางให้ต้องอาบัติหนักเบาอะไรบ้าง  ?
จะเป็นทางให้ต้องอาบัติหนักเบาได้ดังนี้
๑.  พูดเท็จ  เป็นทางให้ต้องอาบัติปาราชิก  เพราะพูดอวดอุตริมนุสสธรรมไม่มีในตน
๒.  พูดคำหยาบ  เป็นทางให้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส  เพราะพูดเกี้ยวหญิงด้วยวาจาชั่วหยาบ
๓.  พูดส่อเสียด  เป็นทางให้ต้องอาบัติปาจิตตีย์  เพราะพูดส่อเสียดภิกษุ
๔.  พูดเพ้อเจ้อ  เป็นทางให้ต้องอาบัติปาจิตตีย์  เพราะ  พูดหลอกภิกษุให้กลัวผี
๕๑.  ภิกษุพูดมุสา  จะเป็นอาบัติอะไรบ้าง ?
ภิกษุพูดมุสาย่อมเป็นอาบัติปาราชิก  เพราะอวดอุตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน,  
เป็นอาบัติสังฆาทิเสส  เพราะโจทย์ฟ้องภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูลด้วยความโกรธ,  
เป็นอาบัติถุลลัจจัย  เพราะอวดอุตตริมนุสสธรรมโดยอ้อมค้อม,  
เป็นอาบัติปาจิตตีย์  เพราะกล่าวมุสาวาท,  
เป็นอาบัติเพราะรับคำของเขาด้วยใจบริสุทธิ์  แล้วทำให้คลาดในภายหลัง  เรียกปฏิสสวะ  ฯ
๕๒.  ภิกษุพูดอวดอย่างไร  จึงต้องอาบัติ 
  อวดว่าได้ฌานเป็นต้น  อวดว่าเป็นพระโสดาบันเป็นต้นฯ  ที่ไม่มีในตน พูดอวดแก่ผู้ใด ผู้นั้นฟังเข้าใจต้องปาราชิก ผู้ฟังไม่เข้าใจต้องถุลลัจจัย
๕๓.  ภิกษุพูดอวดอย่างไร จึงต้องอาบัติ ปาราชิก  ถุลลัจจัย  และปาจิตตีย์ ?
  ภิกษุพูดอวดว่า ได้ฌาน เป็นต้น หรืออวดว่า เป็นพระโสดาบันเป็นต้น  ซึ่งไม่มีในตน พูดอวดแก่ผู้ใด ผู้นั้นเข้าใจ ต้องปาราชิก  ผู้ฟังไม่เข้าใจ ต้องถุลลัจจัย  พูดอวดคุณวิเศษที่มีในตน ต้องปาจิตตีย์
๕๔.  ภิกษุพูดอวดอุตตริมนุสสธรรมซึ่งไม่มีจริงในตน  เมื่อคนอื่นฟังแล้วเข้าใจแต่ไม่เชื่อ  ภิกษุต้องอาบัติอะไร?
ต้องปาราชิกเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม* ถ้าไม่เข้าใจเป็นถุลลัจจัย
๕๕.  พูดเช่นไร เรียกว่าพูดปด? 
  พูดให้คลาดเคลื่อนจากความจริงด้วยประสงค์จะให้ผู้อื่นเข้าใจผิด