ฝ่ายนักธรรม-วินัย
ปัญหาและเฉลยวิชาวินัยบัญญัติ นักธรรมชั้นตรี
สอบในสนามหลวง
วันอาทิตย์ ที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๔
 
๑. พระภิกษุผู้รักษาพระวินัยดีโดยถูกทางแล้ว ย่อมได้อานิสงส์อะไร ?
๑. ย่อมได้อานิสงส์ คือ ความไม่ต้องเดือดร้อนใจ ฯ
๒. สิกขา สิกขาบท และอาบัติ ได้แก่อะไร ?
๒. สิกขา ได้แก่ ข้อที่ภิกษุควรศึกษา มี ๓ อย่าง คือ สีลสิกขา จิตตสิกขา และปัญญาสิกขา 
    สิกขาบท ได้แก่ พระบัญญัติมาตราหนึ่ง ๆ   
    อาบัติ ได้แก่ โทษที่เกิดเพราะความละเมิดในข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ฯ
๓. อาการที่ภิกษุจะต้องอาบัติ มีอะไรบ้าง ?
๓. มี ต้องด้วยไม่ละอาย ๑ ต้องด้วยไม่รู้ว่าสิ่งนี้จะเป็นอาบัติ ๑
ต้องด้วยสงสัยแล้วขืนทำ ๑ ต้องด้วยสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร ๑
ต้องด้วยสำคัญว่าไม่ควรในของที่ควร ๑ ต้องด้วยลืมสติ ๑ ฯ
๔. ครุกาบัติ ที่แก้ไขได้ก็มี ที่แก้ไขไม่ได้ก็มี ที่แก้ไขได้ได้แก่อาบัติอะไรที่แก้ไขไม่ได้ได้แก่อาบัติอะไร 
๔. ที่แก้ไขได้ ได้แก่อาบัติสังฆาทิเสส  ที่แก้ไขไม่ได้ ได้แก่อาบัติปาราชิก ฯ
๕. ภิกษุแกล้งฆ่าสัตว์ให้ตาย ต้องอาบัติอะไร ?
๕. ฆ่ามนุษย์ให้ตาย ต้องอาบัติปาราชิก     ฆ่าอมนุษย์ให้ตาย ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ฆ่าสัตว์เดรัจฉานให้ตาย ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ฯ
๖. ไตรจีวรประกอบด้วยผ้าอะไรบ้าง ? ภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวร ต้องปฏิบัติ อย่างไร ?
๖. ประกอบด้วย ผ้าสังฆาฏิ ผ้าอุตตราสงค์ และผ้าอันตรวาสก ฯ
ต้องสละไตรจีวรผืนที่อยู่ปราศจากนั้น แล้วแสดงอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์
เมื่อได้รับผ้ากลับคืนมาแล้ว ต้องอธิษฐานใหม่ ฯ
๗. จงให้ความหมายของคำต่อไปนี้
๑. อติเรกจีวร ๒. จีวรกาล ๓. อนุปสัมบัน
๗. ๑. อติเรกจีวร หมายถึงจีวรที่ไม่ใช่จีวรอธิษฐาน
๒. จีวรกาล หมายถึงคราวที่เป็นฤดูถวายจีวร (คืออยู่จำพรรษาแล้วถ้าไม่ได้กรานกฐิน นับแต่วันปวารณาไป ๑ เดือน ถ้าได้กรานกฐินเพิ่มออกไปอีก ๔ เดือนในฤดูหนาว)
    ๓. อนุปสัมบัน หมายถึงบุคคลที่มิใช่ภิกษุ ฯ
๘. เภสัช ๕ ได้แก่อะไรบ้าง ? ภิกษุรับประเคนแล้วเก็บไว้ฉันได้กี่วัน เป็นอย่างยิ่ง ?
๘. ได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ฯ  เก็บไว้ได้ ๗ วัน ฯ
๙. ภิกษุฉันพลางทำกิจอื่นพลาง จะต้องอาบัติอะไรหรือไม่ ?
๙. ต้องอาบัติทุกกฎ ฯ
๑๐. อธิกรณ์ คืออะไร ? การตัดสินอธิกรณ์ตามเสียงข้างมาก เรียกว่าอะไร ?
๑๐. คือ เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจะต้องจัดต้องทำ ฯ    เรียกว่าเยภุยยสิกา ฯ