ฝ่ายนักธรรม-วินัย


                                                    เฉลยปัญหาวิชาวินัย นักธรรมชั้นตรี 
                                                                    สอบในโครงการอบรม 
                                                          วันจันทร์ ที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐ 
                                                                    -------------------------
 
๑. ๑.๑  พุทธบัญญัติ  มูลบัญญัติ  อนุบัญญัติ  คืออะไร ? (๕ คะแนน)
พุทธบัญญัติ คือข้อที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้เป็นบทบังคับให้ภิกษุประพฤติ
มูลบัญญัติ  คือข้อที่ทรงบัญญัติไว้เดิม
อนุบัญญัติ  คือข้อที่ทรงบัญญัติเพิ่มเติมภายหลัง  
     ๑.๒  อกรณียกิจคืออะไร ?  มีกี่อย่าง ?  อะไรบ้าง ? (๕ คะแนน)
  อกรณียกิจ  คือกิจที่บรรพชิตไม่ควรทำ 
มี ๔ อย่างคือ  เสพเมถุน ๑    ลักของเขา ๑  ฆ่าสัตว์ ๑     พูดอวดคุณพิเศษที่ไม่มีในตน ๑  
๒.  ๒.๑  สิกขากับสิกขาบทต่างกันอย่างไร ? (๕ คะแนน)
สิกขา  คือข้อที่ภิกษุต้องศึกษา
สิกขาบท  คือพระบัญญัติมาตราหนึ่งๆ เป็นสิกขาบทอันหนึ่งๆ ฯ
     ๒.๒  สิกขาบทที่มาในพระปาฏิโมกข์มีเท่าไร ?  อะไรบ้าง ? (๕ คะแนน)
มี ๒๒๗ ฯ   
คือปาราชิก ๔  สังฆาทิเสส ๑๓  อนิยต ๒  นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐  ปาจิตตีย์ ๙๒  ปาฏิเทสนียะ ๔  เสขิยะ ๗๕  อธิกรณสมถะ ๗  รวมเป็น ๒๒๗ ฯ
๓.  ๓.๑  คำว่า  ต้องอาบัติ  หมายความว่าอย่างไร ? (๕ คะแนน)
หมายความว่า ต้องโทษคือมีความผิดฐานละเมิดข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม
     ๓.๒  อาบัติมีโทษกี่สถาน ?  อะไรบ้าง ? (๕ คะแนน)
มี  ๓  สถานคือ อย่างหนัก อย่างกลาง อย่างเบา
๔.  ๔.๑  พูดอย่างไรเรียกว่า  อวดอุตตริมนุสสธรรม ? (๕ คะแนน)
  พูดอวดคุณพิเศษอันยิ่งของมนุษย์  เช่น ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ มรรค ผล นิพพาน เรียกว่า  อวดอุตตริมนุสสธรรม
     ๔.๒  คำว่า มาตุคาม (หญิง) ในสังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๒, ๓, ๔, ต่างกันอย่างไร ? (๕ คะแนน)
มาตุคาม ในสิกขาบทที่ ๒ หมายถึง หญิงมนุษย์โดยที่สุดเกิดในวันนั้น  มาตุคาม ในสิกขาบทที่  ๓, ๔  หมายถึง  หญิงผู้รู้เดียงสา
๕.  ๕.๑  ภิกษุฆ่าสัตว์ให้ตายเป็นอาบัติอะไร ? (๕ คะแนน)
ถ้าเป็นสัตว์มนุษย์  เป็นอาบัติปาราชิก     
สัตว์ที่เรียกว่าอมนุษย์  เช่นยักษ์ เปรต และดิรัจฉานมีฤทธิ์จำแลงกายเป็นมนุษย์ได้ เป็นอาบัติถุลลัจจัย 
ดิรัจฉานทั่วไป เป็นอาบัติปาจิตตีย์  
     ๕.๒  ปาจิตตีย์แบ่งเป็น นิสสัคคิยปาจิตตีย์ และสุทธิกปาจิตตีย์ เพราะเหตุไร ? (๕ คะแนน)
เพราะว่านิสสัคคิยปาจิตตีย์นั้น จำต้องเสียสละวัตถุอันเป็นเหตุให้ต้องอาบัตินั้นเสียก่อน จึงแสดงอาบัติได้   
ส่วนสุทธิกปาจิตตีย์นั้น ภิกษุพึงแสดงอาบัติได้เลย  ไม่มีวัตถุใด ๆ  ที่จำต้องสละ
๖.  ๖.๑  อาบัติไม่มีมูล กำหนดโดยอาการอย่างไร ? โจทด้วยอาบัติไม่มีมูลเป็นอาบัติอะไร ? (๕ คะแนน)
กำหนดโดยอาการ ๓ คือ ไม่ได้เห็นเอง ๑  ไม่ได้ยิน ๑  ไม่ได้รังเกียจ ๑  ว่าภิกษุนั้นต้องอาบัติชื่อนั้น ฯ  
โจทด้วยอาบัติปาราชิกต้องสังฆาทิเสส โจทด้วยอาบัติสังฆาทิเสสต้องปาจิตตีย์ โจทด้วยอาบัติอื่นจากนี้ต้องปาจิตตีย์ในมุสาวาทสิกขาบท ฯ
     ๖.๒  คำว่า  “ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ”  หมายความว่าอย่างไร ?  ภิกษุต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์แล้ว  ทำอย่างไรจึงจะพ้น ? (๕ คะแนน)
หมายความว่า  อาบัติปาจิตตีย์  ที่จำต้องสละสิ่งของ ฯ
ภิกษุต้องสละสิ่งของอันเป็นเหตุให้ต้องอาบัตินั้นก่อน แล้วแสดงอาบัติ จึงพ้นจากอาบัตินั้นได้ ฯ
๗.  ๗.๑  สิกขา ๓  เมื่อศึกษาแล้วจะได้ประโยชน์อย่างไร ? (๕ คะแนน)
ย่อมได้ประโยชน์ดังนี้ 
ศึกษาเรื่องศีล ทำให้เป็นผู้มีกาย วาจาเรียบร้อย 
ศึกษาเรื่องสมาธิทำให้ใจสงบมั่นคง ไม่ฟุ้งซ่าน 
ศึกษาเรื่องปัญญา ทำให้รอบรู้ในกองสังขาร ฯ
     ๗.๒  การนุ่งเป็นปริมณฑล คือการนุ่งอย่างไร ? (๕ คะแนน)
คือนุ่งเบื้องบนปิดสะดือ แต่ไม่ถึงกระโจมอก เบื้องล่างปิดหัวเข่าทั้ง ๒ ลงมาเพียงครึ่งแข้งไม่ถึงกรอมข้อเท้า ฯ
๘.  ๘.๑  อติเรกจีวร  ได้แก่จีวรเช่นไร ? (๕ คะแนน)
ได้แก่  จีวรนอกจากจีวรอธิษฐาน ฯ
     ๘.๒  การที่ทรงห้ามไม่ให้ภิกษุเก็บอติเรกจีวร  ด้วยมีพระพุทธประสงค์อย่างไร ? (๕ คะแนน)
ด้วยมีพระพุทธประสงค์เพื่อป้องกันความสุรุ่ยสุร่าย และความมักมากของภิกษุ ฯ
๙.  ๙.๑  เสขิยวัตรคืออะไร ?  มีกี่สิกขาบท ? 
คือวัตรหรือธรรมเนียมที่ควรศึกษา , มี ๗๕ สิกขาบท
     ๙.๒  ภิกษุไม่เอื้อเฟื้อในเสขิยวัตร  ปฏิบัติผิดธรรมเนียม  ต้องอาบัติอะไร ? (๕ คะแนน)
ต้องอาบัติทุกกฎ
๑๐.  ๑๐.๑  อธิกรณ์  คืออะไร ?  อธิกรณ์ย่อมระงับได้ด้วยอะไร ? (๕ คะแนน)
คือ เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจะต้องจัดต้องทำ ฯ   ระงับได้ด้วยอธิกรณสมถะ คือธรรมสำหรับระงับอธิกรณ์ ฯ
     ๑๑๐.๒  การแสดงอาบัติจัดเข้าในอธิกรณสมถะข้อไหน ?  สำหรับระงับอธิกรณ์อะไร ? (๕ คะแนน)
จัดเข้าในปฏิญญาตกรณะ ฯ  สำหรับระงับอาปัตตาธิกรณ์  ฯ